เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [5. สัมปสาทนียสูตร]
เรื่องน่าอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ

เรื่องน่าอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ

[162] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายี1ได้กราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ความ
มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา มีอยู่แก่พระตถาคตผู้ทรงมีฤทธิ์มากอย่างนี้
ทรงมีอานุภาพมากอย่างนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ทรงโอ้อวด ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก
ได้เห็นประจักษ์ธรรมเพียงข้อหนึ่งจากธรรมของพระองค์แล้ว ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พวกเขาจะต้องยกธงเที่ยวประกาศ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ความมักน้อย
ความสันโดษ ความขัดเกลา มีอยู่แก่พระตถาคตผู้ทรงมีฤทธิ์มากอย่างนี้ ทรงมี
อานุภาพมากอย่างนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ทรงโอ้อวด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุทายี เธอจงดูความมักน้อย ความสันโดษ ความ
ขัดเกลาของตถาคตผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่
โอ้อวด ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกได้เห็นประจักษ์ธรรมเพียงข้อหนึ่งจากธรรม
ของเรานี้แล้ว ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พวกเขาจะต้องยกธงเที่ยวประกาศ อุทายี เธอ
จงดู ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลาของตถาคตผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้
มีอานุภาพมากอย่างนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่โอ้อวด”
[163] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระสารีบุตรว่า “เพราะเหตุ
นี้แล สารีบุตร เธอพึงกล่าวธรรมบรรยายนี้แก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
เนือง ๆ เถิด พวกโมฆบุรุษที่มีความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในตถาคตฟังธรรม
บรรยายนี้แล้ว จักละความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในตถาคตนั้นได้”
เพราะเหตุที่ท่านพระสารีบุตรประกาศความเลื่อมใสนี้เฉพาะพระพักตร์ของพระ
ผู้มีพระภาค ฉะนั้น เวยยากรณภาษิต2นี้จึงมีชื่อว่า ‘สัมปสาทนียะ’ แล

สัมปสาทนียสูตรที่ 5 จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [6. ปาสาทิกสูตร] นิครนถ์ นาฏบุตรถึงแก่กรรม

6. ปาสาทิกสูตร
ว่าด้วยเหตุให้เกิดความเลื่อมใส

[164] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทในอัมพวันของพวกเจ้าศากยะ
นามว่า เวธัญญา แคว้นสักกะ

นิครนถ์ นาฏบุตรถึงแก่กรรม

สมัยนั้น นิครนถ์ นาฏบุตร ได้ถึงแก่กรรมไม่นานที่กรุงปาวา เพราะการ
ถึงแก่กรรมของนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น พวกนิครนถ์จึงแตกกัน เกิดแยกเป็น 2 พวก
ต่างบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า “ท่านไม่รู้
ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ แต่เรารู้ทั่วถึงธรรมวินัย ท่านจะรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร
ท่านปฏิบัติผิด แต่ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก คำพูดของข้าพเจ้ามีประโยชน์ แต่คำพูดของ
ท่านไม่มีประโยชน์ คำที่ควรพูดก่อน ท่านกลับพูดภายหลัง คำที่ควรพูดภายหลัง
ท่านกลับพูดก่อน เรื่องที่ท่านเคยชินได้ผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดคำพูดของท่าน
ได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ถ้าท่านมีความสามารถ ก็จงหาทางแก้คำพูดหรือ
เปลื้องตนให้พ้นผิดเถิด” เห็นจะมีการฆ่ากันเท่านั้นที่จะเป็นไปในพวกนิครนถ์ ผู้เป็น
สาวกของนิครนถ์ นาฏบุตร แม้พวกสาวกของนิครนถ์ นาฏบุตรที่เป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาว
ห่มขาว ก็มีอาการเบื่อหน่าย คลายความรัก รู้สึกท้อถอยในพวกนิครนถ์ ผู้เป็น
สาวกของนิครนถ์ นาฏบุตร ทั้งนี้เพราะธรรมวินัยที่นิครนถ์ นาฏบุตรกล่าวไว้ไม่ดี
ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็น
ธรรมวินัยที่ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ เป็นธรรมวินัยที่มีที่พำนักถูก
ทำลายแล้ว1 เป็นธรรมวินัยที่ไม่มีที่พึ่งอาศัย2

เชิงอรรถ :
1 ที่พำนักถูกทำลายแล้ว หมายความว่านิครนถ์ นาฏบุตรเป็นที่พำนักของเหล่าสาวก เมื่อเขาถึงแก่กรรมแล้ว
เหล่าสาวกจึงหมดที่พึ่งพิง ธรรมของเขาก็เหมือนสูญสิ้นไปด้วย (ที.ปา.อ. 164/94)
2 ดูเทียบ ข้อ 301 หน้า 249 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :125 }